ขั้นแรก : ต้องมีหมุดระดับอ้างอิงเสียก่อน!
ก่อนจะเริ่มโครงการใด ๆ นั้น ช่างสำรวจจะต้องถ่ายระดับจากหมุดหลักฐานทางดิ่ง (หากโครงการอยู่ในพื้นที่กรุงเทพฯ)
โดยสำนักการโยธา กรุงเทพมหานคร [2] จะเข้ามาในพื้นที่โครงการ เพื่อสร้างหมุดอ้างอิงของโครงการ (ต่อจากนี้ไปจะเรียกว่า หมุด B.M.) และเมื่อวัดระดับ MSL ของหมุดของโครงการแล้ว ให้กำหนดค่าของหมุดอยู่ที่ระดับ 0.00 ม. เพื่อความสะดวก
ซึ่งหมุดนี้จะต้องมีความคงทนและไม่สามารถเปลี่ยนแปลงได้ เนื่องจากหมุดนี้จะต้องใช้ไปตลอดจนจบโครงการ หรือจนกว่าจะมีการถ่ายระดับจนเสร็จ
ขั้นที่สอง : มาถ่ายระดับกันเถอะ!
เมื่อมีหมุดระดับที่แน่นอนเป็นของตัวเองแล้ว ต่อไปช่างสำรวจจะต้องทำการถ่ายระดับหรือ ออฟเมตร ไปยังพื้นชั้นที่ 1 ของอาคาร เริ่มจากการตั้งไม้ Staff บนหมุด B.M.
จากนั้นอ่านค่าที่ได้จากไม้ Staff และฝากค่าระดับที่อ่านได้ สมมติว่าอ่านค่าระดับได้ 1.50 ม. จากนั้นดึงตลับเมตรลงมา 50 ซม.
เท่านี้ก็จะได้ระดับความสูง 1.00 ม. เหนือ Finishing แล้ว! จากนั้นก็ทำเครื่องหมายบนโครงสร้างหลัก เช่น เสา หรือปล่องลิฟต์ เป็นต้น
ทั้งนี้ ผู้ควบคุมงานก่อสร้างหรือช่างสำรวจ มักฝากออฟเมตรไว้ที่โครงสร้างหลาย ๆ ที่ โดยใช้ เลเซอร์ เปิดในแนวราบ และทำสัญลักษณ์ด้วยการขีด หรือใช้เต๊าสีเส้นเป็นแนวนอนไว้
โดยปกติแล้ว เส้นออฟเมตรมักจะสูง 1.00 ม. จากระดับ Finishing ของงานสถาปัตย์เสมอ
ขั้นที่สาม : ถ่ายระดับไปที่ชั้นสอง หรือชั้นต่อ ๆ ไป
หลังจากได้เส้นออฟเมตรของชั้น 1 แล้ว ในการถ่ายระดับไปยังชั้น 2 ก็สามารถทำได้โดยการดึงตลับเมตรขึ้นไป โดยใช้ระดับ Finishing ของพื้นชั้น 2 บวกเพิ่มไปอีก 1 ม. ก็จะได้เส้นออฟเมตร ของชั้น 2 แล้ว จากนั้นก็ฝากระดับไว้ที่โครงสร้างหลัก โดยใช้เลเซอร์เปิดในแนวราบ และตีเต๊าบอกระดับอีกครั้ง เป็นอันเสร็จเรียบร้อย
สำหรับชั้นถัดไป ก็ทำแบบนี้ซ้ำต่อไปได้เลย และเพื่อให้ได้ระดับที่ถูกต้อง (หรือตั้งฉากกับพื้นโลก สามารถใช้ลูกดิ่งหรือไม้ Staff ที่มีฟองน้ำกลมในการ Adjust เพื่อช่วยวัดความสูงได้ด้วย)
Summary
เส้นออฟเมตร ก็คือเส้นที่มีการ Offset ขึ้นมาจากระดับ Finishing 1 เมตร เพื่อเป็นเส้นอ้างอิงในการก่อสร้าง ซึ่งมีช่วยให้งานก่อสร้างสำเร็จและไปเป็นตามแบบ ดังนั้นนอกจากจะอาศัยความชำนาญของช่างสำรวจแล้ว อุปกรณ์ในการถ่ายระดับก็มีความสำคัญเช่นเดียวกัน!