พื้นที่สีเขียวคืออะไร?

ตามนิยามของสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) นั้น พื้นที่สีเขียว (Green Space) นั้นหมายถึง พื้นที่ว่างในชุมชนเมืองที่ปกคลุมด้วยพืชพรรณเป็นองค์ประกอบหลัก โดยมีจุดประสงค์ด้านสิ่งแวดล้อม ระบบนิเวศ และคุณภาพชีวิตของประชาชนที่อาศัยโดยรอบ[1] โดยสีเขียวของคำว่าพื้นที่สีเขียวนั้น ก็มาจากสีเขียวคลอโรฟิลล์ของต้นไม้ใบหญ้านั่นเอง
พื้นที่สีเขียวในปัจจุบันเริ่มกลับมาได้รับความสำคัญมากขึ้น เนื่องจากการพัฒนาเมืองที่มากขึ้น ทำให้เกิดปรากฏการณ์เกาะความร้อน (Urban Heat Island) หรือปรากฎการณ์ที่พื้นที่เมืองมีอุณหภูมิสูงกว่าพื้นที่อื่น ๆ โดยรอบ[2] โดยเฉพาะบริเวณเมืองที่มีอาคาร สิ่งปลูกสร้าง เนื่องจากวัสดุที่ใช้ก่อสร้างอาคารไม่สามารถดูดซับความร้อนจากดวงอาทิตย์ได้ ทำให้ความร้อนนั้นสะท้อนกลับมาสู่บรรยากาศภายนอก ไม่เหมือนกับต้นไม้หรือพืชสีเขียวที่สามารถดูดซับความร้อน ไปใช้ในกระบวนการสังเคราะห์แสง
เพราะความสามารถในการดูดซับความร้อนของต้นไม้นั่นเอง ทำให้พื้นที่สีเขียวมีความสำคัญเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะกับสังคมเมืองที่เต็มไปด้วยสิ่งปลูกสร้างเช่นนี้ ด้วยเหตุนี้เอง หน่วยงานต่าง ๆ จึงเริ่มให้ความสำคัญกับพื้นที่สีเขียวมากขึ้น ทั้งออกเป็นข้อกำหนดหรือข้อกฎหมายให้กับโครงการก่อสร้างต่าง ๆ
EIA และพื้นที่สีเขียว

ตัวอย่างกฎหมายที่ผู้อ่านหลาย ๆ ท่านน่าจะเคยได้ยินบ่อย ๆ อย่าง EIA (Environmental Impact Assessment) การทำ EIA นั้นก็ขึ้นอยู่กับประเภทของโครงการก่อสร้าง[3] หากโครงการไหนที่เข้าข่ายต้องทำ EIA แต่เจ้าของโครงการละเลย อาจจะไม่ได้อนุญาตให้ก่อสร้างโครงการนั้น ๆ ได้
ในแนวทางการจัดทำ EIA โครงการหรือกิจการด้านอาคาร การจัดสรรที่ดิน และบริการชุมชน ฉบับเดือนกรกฎาคม 2560[4] ในหัวข้อพื้นที่สีเขียวว่า “...พื้นที่สีเขียวต่อผู้อยู่อาศัยภายในโครงการไม่น้อยกว่า 1 ตารางเมตร ต่อ 1 คน และต้องจัดให้มีพื้นที่สีเขียวบริเวณชั้นล่างไม่น้อยกว่าร้อยละ 50 ของพื้นที่สีเขียวที่ต้องจัดให้มีตามเกณฑ์ ทั้งนี้ ต้องเป็นไม้ยืนต้นไม่น้อยกว่าร้อยละ 50 ของพื้นที่สีเขียวชั้นล่างที่ต้องจัดในมีตามเกณฑ์…”
สมมติว่าโครงการสามารถรองรับลูกบ้านได้ 150 คน ก็แปลว่าโครงการจะต้องมี
พื้นที่สีเขียว 150 คน = 150 ตร.ม.
พื้นที่สีเขียวบริเวณชั้นล่าง หรือพื้นที่สีเขียวบนพื้นดิน จะเป็น 150 ตร.ม. x 50% = 75 ตร.ม.
(อีก 75 ตร.ม. ที่เหลือ จะเป็นพื้นที่สีเขียวบนอาคาร หรือสวนลอยฟ้า)
พื้นที่ปลูกไม้ยืนต้น จะเป็น 75 ตร.ม. x 50% = 37.5 ตร.ม.
ทำไมต้องมีพื้นที่สีเขียว?

นอกจากข้อบังคับทางกฏหมายแล้ว พื้นที่สีเขียวภายในเมืองนั้น มักจะถูกสร้างให้เป็นสวนสาธารณะที่ใช้ผ่อนคลายและใช้เป็นสถานที่สำหรับออกกำลังกายสำหรับคนเมือง และนอกจากความสามารถในการดูดซับความร้อนของต้นไม้สีเขียวขจี ต้นไม้บางชนิดสามารถกรองฝุ่นได้ด้วย พื้นที่สีเขียวบางแห่ง จึงถูกเรียกว่าเป็นปอดของเมือง เช่น บางกะเจ้าที่ถูกเรียกว่าเป็นปอดของกรุงเทพฯ หรืออะเมซอนที่เป็นปอดของโลก นอกจากนี้ในทางการแพทย์ สีเขียวเป็นสีที่ช่วยให้ดวงตาผ่อนคลายหลังจากการใช้สายตาอย่างหนักหน่วงได้ด้วย ลองมองไปที่สีเขียวดูสิ มันช่วยผ่อนคลายสายตาได้ดีไม่น้อย[5]
พื้นที่สีเขียวนั้นมักจะเป็นพื้นที่สาธารณะ ทุกคนสามารถเข้ามาใช้ประโยชน์ได้ จึงต้องมีการออกแบบเพื่อให้ทุกคนสามารถเข้าถึงได้อย่างง่ายดาย ไม่ว่าจะเป็นทางรถ เรือ ราง เดินเท้า และการที่ทุกคนสามารถเข้ามาในพื้นที่สีเขียวได้นั้น ย่อมหมายถึงว่าพื้นที่นั้น ทุกคนตั้งแต่เด็ก วัยรุ่น วัยทำงานและผู้สูงอายุสามารถเข้ามาใช้งานได้อย่างปลอดภัย และนั่นก็เพราะการออกแบบโดยใช้ Universal Design (การออกแบบเพื่อทุกคน) นั่นเอง
และเบื้องหลังการออกแบบที่ดีนั้น ล้วนมาจากการสำรวจทั้งสิ้น ยกตัวอย่างเช่นสวนป่าเบญกิติที่อยู่ใจกลางเมืองกรุง ซึ่งผู้ออกแบบได้คำนึงถึงลักษณะพื้นที่ลุ่มน้ำของกรุงเทพ จึงได้ออกแบบให้สวนป่าเบญกิติมีพื้นที่ลาดเอียงเพื่อเป็นรับน้ำในฤดูฝน และยังใช้ความลาดเอียงเป็นจุดเด่นในการสร้าง Skywalk ที่มีการเล่นระดับและลาดเอียงไม่เท่ากัน เพื่อกำหนดการใช้งาน Skywalk ในแต่ละโซน และเพื่อให้ผู้ใช้สามารถชมวิวสวนได้อย่างเต็มที่ ซึ่งหนึ่งในตัวช่วยแสนสำคัญที่ทำให้พื้นทางเดินลาดเอียงได้อย่างถูกต้องตามแบบก่อสร้างและทำให้ผู้เดินรู้สึกสบายทุกก้าวย่างก็คือ เลเซอร์วัดระดับ นั่นเอง! ยังไม่นับอุปกรณ์งานสำรวจอีกมากมายที่อยู่เบื้องหลังสวนน่าเดินที่เราเห็นอยู่ทุกวันนี้
Summary
พื้นที่สีเขียวนอกจากจะช่วยลดอุณภูมิให้เมืองและโลกแล้ว ยังช่วยให้ผู้คนรู้สึกผ่อนคลายอีกด้วย ดังนั้นเพื่ออนาคตที่ดีของลูกหลานรุ่นต่อไปของเรา มาช่วยกันเพิ่มพื้นที่สีเขียวแห่งใหม่อย่างถูกวิธีและรักษาพื้นที่สีเขียวเดิมให้คงอยู่เป็นร่มโพธิ์ร่มไทรอันร่มเย็นต่อไป