
อะไรคือการทดสอบเหล็ก?
การทดสอบเหล็กสามารถทำได้หลายแบบทั้งดึง ดัด กด แต่การทดสอบแบบดึงในความเห็นส่วนตัวมันดูง่ายกว่า และผลทดสอบก็ดูง่าย อีกทั้งการออกแบบโครงสร้างคอนกรีตเสริมเหล็กจะใช้ผลทดสอบการดึงมาอ้างอิงเพื่อที่จะได้ออกแบบขนาดและจำนวนของเหล็กเสริมที่จะใช้ในโครงสร้างนั้นๆ
มาตรฐานของการทดสอบมีเยอะมากๆ เยอะจนไม่สามารถอธิบายจบได้ใน 1 บทความ เอาเป็นว่า ข้ามมันไปละกัน เราจะไม่เจาะลึก ไม่อย่างนั้นหัวระเบิดแน่

เหล็กเส้นดี ไม่ตีก็ดังเพราะเราจะดึงให้มันขาด!
อย่างที่กล่าวไว้ว่าการทดสอบแบบดึงมันทำได้ง่ายกว่า เพียงแค่ตัดเหล็กที่จะทดสอบให้มีความยาวพอประมาณมาเข้าเครื่องทดสอบ (หาดูได้ในเว็บขอบเราเลยค่ะ) จากนั้นก็เปิดเครื่องให้มันดึงเหล็กจนยืดดด และ ตึ้ง! เหล็กขาดจ้า ใช่แล้ว ‘เหล็กขาด’ นี่แหละคือสิ่งที่เราต้องการ
แต่ว่า ‘ค่าแรงดึงที่จะนำมาใช้ออกแบบโครงสร้าง’ จะเป็นค่าแรงดึงก่อนเหล็กเส้นจะขาด หรือ ค่า Yield แล้วทำไมไม่ใช้ค่าแรงดึงตอนเหล็กขาดล่ะ?
ลองคิดดูนะคะ ถ้าคุณรู้ว่าแก้วมันสามารถแตกได้ คุณจะปาลงพื้นไหม? แน่นอนว่าไม่ เหมือนกับการเอาค่าแรงดึงตอนเหล็กขาดมาออกแบบโครงสร้างเท่ากับว่าเรายอมให้เหล็กรับแรงจนขาด นำไปสู่การพังของโครงสร้างคอนกรีตเสริมเหล็ก ดังนั้นการนำค่าแรงดึงก่อนเหล็กขาดมาออกแบบโครงสร้างจะการันตีความปลอดภัยได้มากกว่า

แล้วเอาตัวอย่างที่ไหนมาทดสอบกัน?
ในการก่อสร้างจริงนั้น ผู้รับเหมามีหน้าที่ทำตามแบบของผู้ออกแบบ รวมถึงการนำเหล็กเส้นที่จะใช้งานไปทดสอบ แต่เราไม่สามารถนำเหล็กเส้นยาวอย่างน้อย 10 เมตร จำนวนกว่า 100 เส้นไปทดสอบได้แน่นอน ที่ทำได้คือสุ่มตัดมาทดสอบ เช่น เหล็กเส้น DB20 ก็สุ่มจากจำนวนที่มาส่งประมาณ 4-5 เส้น และตัดบางส่วนของเหล็กเหล่านั้นมาทดสอบ
แต่ไม่ใช่ว่าจะไปทดสอบไก่กาที่ไหนก็ได้นะคะ ส่วนมากจะนำไปทดสอบตามมหาวิทยาลัยที่มีห้องแล็บสำหรับทดสอบเหล็ก หรือสถาบันที่รับทดสอบ ที่สามารถออกใบรับรองว่าเหล็กเส้นที่จะนำมาเสริมโครงสร้างมีมาตรฐานตรงตามแบบ
SUMMARY
การทดสอบเหล็กมีความสำคัญอย่างมากสำหรับงานโครงสร้างคอนกรีตเสริมเหล็ก หากไม่ทำการทดสอบเหล็กก่อนนำมาก่อสร้าง ก็จะไม่สามารถรู้ได้เลยว่าเหล็กเส้นมีความแข็งแรงมากพอและได้มาตรฐานสำหรับรับแรงหรือไม่
ดังนั้นเพื่อไม่ให้เกิดความเสียหายต่อโครงสร้าง ต่อทรัพย์สิน อาจร้ายแรงจนถึงขั้นตึกถล่มมีผู้ได้รับบาดเจ็บหรือเสียชีวิต วิศวกรก่อสร้าง/ช่างก่อสร้างที่ดีควรใช้ของที่ได้มาตรฐานในการก่อสร้างนะจ๊ะ