
‘ตกท้องช้าง’ แปลว่าอะไร?
ตกท้องช้างหรือ Sag ในภาษาอังกฤษ เป็นการแสดงพฤติกรรมหย่อน ยาน แอ่น หรือโค้งของวัสดุ ส่งผลให้วัสดุนั้น ๆ ไม่สามารถรับกำลังได้เท่าเดิม (หรือก่อนเกิดการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของวัสดุ) หากเกิดในโครงสร้างหลักของอาคาร อาจทำให้เกิดความเสียหายแก่อาคารได้
ด้วยเหตุนี้ คำว่า “ตกท้องช้าง” จึงถูกนำมาใช้สื่อความหมายของสิ่งที่หย่อนยาน ใช้การไม่ได้ดี หรืออยู่ในสภาพที่อาจทำให้เกิดความเสียหายขึ้นได้ เช่น เศรษฐกิจ โครงสร้างอาคาร รวมถึงการสำรวจด้วย!

โซ่ที่หย่อนยาน
ในด้านการสำรวจ การตกท้องช้างจัดเป็นหนึ่งในความคลาดเคลื่อนที่เกิดจากสภาพธรรมชาติ (Natural Errors) ชนิดหนึ่ง
โดยเกิดจากการเปลี่ยนแปลงของอุณหภูมิ ซึ่งมักเกิดขึ้นในการวัดระยะด้วยโซ่ (Chain Surveying หรือ Gunter’s Chain) หรือ เทปวัดระยะ (Measuring Tape)
เนื่องจากโซ่เหล็กนั้นมีน้ำหนักของตัวมันเอง และกอปรกับคุณสมบัติในการนำความร้อนจากธรรมชาติของเหล็ก ในการวัดระยะด้วยโซ่จึงมักทำให้เกิดการตกท้องช้าง และทำให้ระยะที่วัดคลาดเคลื่อนจากระยะจริงนั่นเอง
นานเข้าความนิยมของโซ่วัดระยะถูกแทนที่ด้วยเทปวัดระยะ แต่เช่นเดียวกับโซ่ เทปวัดระยะที่วัสดุทำมาจากเหล็ก หากไม่คำนึงถึงการเปลี่ยนแปลงของอุณหภูมิ โดยเฉพาะพี่ไทยแล้ว แม้จะดึงเทปให้ตึงเพียงใด การตกท้องช้างก็อาจขึ้นได้โดยที่นักสำรวจไม่ทันคาดคิด

แล้วจะวัดระยะอย่างไร?
แน่นอนว่าก็ขึ้นอยู่กับความละเอียด หรือเกณฑ์ความคลาดเคลื่อนของงานสำรวจประเภทนั้น ๆ
หากเป็นโครงการก่อสร้างหรือสำรวจเล็ก ๆ เทปวัดระยะก็สามารถใช้งานได้ โดยให้วัดระยะเทียบ 2 ครั้ง ก่อนคำนวณระยะคลาดเคลื่อน
นอกจากนี้ ยังมี “วงล้อวัดระยะ” ที่มีวัสดุทั้งโลหะ และไฟเบอร์กลาสเป็นวัสดุที่ใช้ในการวัดระยะ โดยไฟเบอร์กลาสนั้นที่มีคุณสมบัติทนความร้อน คงรูปได้ดี ฯลฯ จึงเหมาะกับการใช้วัดระยะในประเทศเขตร้อนอย่างไทยเรานั่นเอง
สุดท้ายแต่ไม่ท้ายสุด ยังมีอุปกรณ์วัดระยะสุดอัจฉริยะอย่าง “เลเซอร์วัดระยะ” ที่ใช้การสะท้อนกลับของเลเซอร์เมื่อตกกระทบกับวัตถุปลายทางเพื่อคำนวณระยะทางได้อย่างแม่นยำอีกด้วย (ศึกษาความแตกต่างของ เทปวัดระยะ และ เลเซอร์วัดระยะได้ที่บทความนี้ >>> เทปวัดระยะ vs เลเซอร์วัดระยะ)

Summary
การตกท้องช้าง คือ การที่วัสดุหย่อนยานไปตามธรรมชาติ เหมือนท้องช้าง ที่แม้จะกินพืชเป็นอาหารหลัก แต่ก็ยังมีพุงเล็ก ๆ หย่อน ๆ เกิดขึ้นนั่นเอง ถึงอย่างนั้นเครื่องวัดระยะของเราก็ไม่ควรหย่อนเหมือนท้องช้างนะ!