ถนนโต้คลื่นในเขตดอนเมือง-หลักสี่ เกิดจากอะไร
ข่าวหลายสำนักเขียนถึงสาเหตุที่ถนนสายนี้มีลักษณะเป็นคลื่นไว้ว่า เดิมทีถนนสายนี้สร้างขึ้นมาเพื่อรองรับโฮปเวลล์ซึ่งเป็นระบบขนส่งทางรถไฟยกระดับของกรุงเทพฯ แต่เพราะผีผลักหรืออะไรไม่อาจทราบได้ ทำให้โครงการโฮปเวลล์นี้ถูกยกเลิกไป (แบบงงๆ ) โครงสร้างเดิมจึงถูกตั้งทิ้งไว้ให้โดนลมโดนฝน กลายเป็นอนุสรณ์แห่งความอิหยังวะของวงการก่อสร้างให้ทุกคนได้เห็นกัน
จากนั้นไม่นานเท่าไร (แค่ผ่านมา 30 ปีเอง) ได้มีการปรับปรุงรื้อถอนโครงสร้างบางส่วนของโฮปเวลล์เพื่อทำโครงการรถไฟฟ้าชานเมืองสายสีแดงช่วงตลิ่งชัน-บางซื่อ-รังสิตแทน แต่เนื่องจากไม่สามารถรื้อถอนบริเวณฐานรากของโครงการโฮปเวลล์ได้ทั้งหมด (ค่ารื้อแพงมากค่ะ) ทำให้ถนนในส่วนที่รื้อฐานรากไปแล้วเกิดการทรุดตัวเป็นช่วงๆ ให้นึกภาพว่าเราวางกระดาษไว้บนกล่อง 3 ใบแล้วเราเอากล่องตรงกลางออก กระดาษก็จะย้วยลง นั่นแหละค่ะสภาพการรื้อฐานรากโครงการนี้ เลยเกิดถนนโต้คลื่นตามที่ได้เห็นกัน
สาเหตุอื่นที่ทำให้ถนนเป็นคลื่น
สาเหตุอื่นที่น่าสนใจนอกจากเรื่องโฮปเวลล์แล้วคือการออกแบบถนนที่ไม่เหมาะสม หรือก็คือไม่ได้คิดถึงสภาพการใช้งานในอนาคต โดยถนนจะมีการทรุดตัวทุกครั้งเมื่อได้รับน้ำหนักจรจากรถที่วิ่งอยู่แล้ว ยิ่งออกแบบไม่ดี ถนนยิ่งมีการทรุดตัวมาก หรืออีกความเป็นไปได้คือการวางระบบระบายน้ำของถนนที่ไม่เหมาะสม
หรืออาจเป็นเพราะการใช้วัสดุก่อสร้างที่ไม่มีคุณภาพ ทำให้ไม่สามารถทนต่อการใช้งานในสภาพการจราจรที่หนาแน่น ลองนึกสภาพถนนช่วงดอนเมือง-หลักสี่ตอนเช้าหรือหลังเลิกงานสิคะ รถหนาแน่นจนเรียกได้ว่า 5 ไฟแดงแล้วยังไปไม่ถึงไหน
ทั้งนี้ ข้อสันนิษฐานข้างต้นเป็นเพียงความคิดเห็นของวิศวกรบางส่วนเท่านั้น เรื่องตื้นลึกหนาบางอะไรทางเราไม่อาจทราบได้เพราะไม่ได้มีการเปิดเผยข้อมูลของโครงการนี้มากนัก
ผลกระทบของถนนโต้คลื่น
แน่นอนว่าถนนเป็นคลื่นแบบนั้นย่อมส่งผลต่อผู้ขับขี่และชาวบ้านที่อาศัยบริเวณนั้น โดยเฉพาะเวลาที่คนต่างพื้นที่หลงเข้ามาที่ถนนสายนี้แล้วใช้ความเร็วเกิน ซึ่งเสี่ยงต่อการที่รถเสียการควบคุมและเกิดความเสียหายได้ ลองนึกภาพว่าขับรถมาด้วยความเร็วระดับหนึ่งแล้วดันเจอถนนที่เป็นคลื่น รถอาจกระแทกกับคลื่นนั้นหรือถ้าบางคนตื่นตระหนกก็อาจทำให้เกิดอุบัติเหตุได้
นอกจากปัญหาด้านความปลอดภัยแล้ว ถนนที่เป็นคลื่นมีผลทางเศรษฐกิจด้วย ถนนที่มีสภาพไม่ดีอาจเป็นอุปสรรคต่อการเปิดร้านค้าในพื้นที่ ซึ่งจะทําให้มูลค่าทรัพย์สินและภาษีลดลง และยังทำให้รับมือกับสถานการณ์ฉุกเฉินได้ยากอีกด้วย
เราซ่อมถนนโต้คลื่นได้ไหม?
การซ่อมถนนโต้คลื่นเป็นเรื่องที่ยุ่งยากและต้องใช้งบประมาณมาก อีกทั้งต้องหาวิธีที่จะลดผลกระทบกับการจราจรให้น้อยที่สุด อย่าลืมนะคะว่ามีคนใช้ถนนเป็นพันๆ จะมาปิดทั้งสายเพื่อซ่อมก็คงไม่ได้ ลำบากชาวบ้าน โดนด่าแน่นอน อย่างไรก็ตาม หากจัดการดีๆ ก็สามารถปิดการจราจรบางส่วนเพื่อซ่อมแซมถนนได้ เท่าที่ผ่านมาการซ่อมถนนจะอาศัยปิดการจราจรเป็นช่วงๆ ไป ทำให้การจราจรติดขัดนิดหน่อย (หรือเปล่า?) แต่สามารถดำเนินการซ่อมแซมได้ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับการวางแผนงานของผู้จัดการโครงการด้วย
สำหรับขั้นแรกของการซ่อมถนนต้องเริ่มจากการสำรวจจุดที่เป็นคลื่นและหาสาเหตุของมันเสียก่อนว่าเกิดจากอะไร หลังจากนั้นจึงหาวิธีซ่อมถนนให้เหมาะสมกับสภาพพื้นที่ด้วย ถ้าวิธีการซ่อมไม่เหมาะสมก็จะเกิดการทรุดตัวของถนนอีก เท่ากับว่าซ่อมกี่ชาติก็ไม่เสร็จสักที
ส่วนมากที่ผู้เขียนเคยเห็นซ่อมกันก็จะเป็นการสกัดผิวถนนเดิม และเสริมโครงสร้างเหล็กหรืออาจเป็นวัสดุอื่นๆ ที่สามารถรับแรงได้มากกว่าเดิม หรือถ้าทรุดหนักก็จะมีการเจาะสำรวจดินที่อยู่ใต้ถนน แล้วรื้อหมดทั้งชั้น Embankment (ชั้นหิน, ทรายที่รองก่อนเทคอนกรีตหรือราดยางมะตอย) ยันผิวถนน คิดดูสิคะว่าจะต้องเสียเวลา เสียเงิน แถมการจราจรก็ติดขัดอีก งานไม่เล็กเลยนะวิ!
เรากันไม่ให้ถนนโต้คลื่นเกิดขึ้นอีกได้ไหม?
ในทางเทคนิคแล้ว วิศวกรก็ไม่อยากให้เกิดปัญหาก่อนค่อยหาวิธีแก้ ซึ่งปัจจุบันเราป้องกันการเกิดถนนโต้คลื่นได้ด้วยเทคโนโลยีใหม่ๆ ที่ช่วยให้การออกแบบถนนมีมาตรฐานและรองรับการจราจรที่หนาแน่นได้ดี แต่เทคโนโลยีบางส่วนจำเป็นต้องใช้เงินทุนมาก ซึ่งถ้าหน่วยงานที่รับผิดชอบมีศักยภาพมากพอก็ควรลงทุนกับเทคโนโลยีการก่อสร้าง เพื่อให้ได้ถนนที่มีคุณภาพและไม่ต้องเสียเวลาแก้ไขทีหลัง
และหลังสร้างถนนเสร็จ การบำรุงซ่อมแซมอย่างต่อเนื่องเองก็ช่วยป้องกันการเกิดถนนโต้คลื่นได้เช่นกัน ด้วยการค้นหาและแก้ไขปัญหาก่อนที่จะบานปลายเหมือนอย่างถนนดอนเมือง-หลักสี่ โดยอาศัยการสำรวจระดับของถนนว่ามีการทรุดตัวจากเดิมเท่าไร หากทรุดตัวมากก็รีบแก้ไขก่อนที่จะสายไป
SUMMARY
ปัจจุบันมีข้อมูลว่าถนนสายดังกล่าวถูกซ่อมแซมแล้ว ซึ่งทางผู้เขียนไม่สามารถยืนยันได้ว่าซ่อมเสร็จทั้งเส้นหรือแค่บางส่วน อย่างไรก็ดี ถนนที่เป็นคลื่นมีผลในการขับขี่มาก เพราะทำให้เกิดอุบัติเหตุง่าย โดยเฉพาะกับผู้ใช้ถนนที่เป็นมือใหม่หรือไม่ใช่คนที่ใช้ถนนเส้นนั้นประจำ
ในโครงการหน้ารบกวนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องช่วยสร้างให้มันดีตั้งแต่แรกเถอะค่ะ ใช้งบประมาณกับเทคโนโลยีใหม่ๆ ในการสร้างถนนบ้าง เพื่อที่จะไม่เกิดถนนโต้คลื่นเป็นภาระประชาชนอีก แถมยังเสียเวลา เสียเงินในการซ่อมอีกเยอะเลย