กีฬาส่วนมากต้องเล่นในสถานที่ที่เหมาะสม เพื่อให้ผู้เล่นเล่นได้เต็มที่และปลอดภัย บทความนี้จะพาทุกท่านไปรู้จักกับกีฬาที่มีการออกแบบสนามที่น่าสนใจ ได้แก่ กอล์ฟ รถแข่ง และสเก็ตบอร์ด ซึ่งล้วนขาดงานสำรวจที่เป็นพระเอกเบื้องหลังไม่ได้เลย
ความลาดเอียง หัวใจของสนามกอล์ฟ
สนามกอล์ฟที่กว้างใหญ่มักจะมีทั้งหมด 18 หลุม ซึ่งแต่ละหลุมจะประกอบด้วย
1. Teeing Ground : จุดเริ่มต้นของการแข่งขันแต่ละหลุม เป็นจุดที่ผู้เล่นจะเริ่มตีลูกกอล์ฟออกไปเพื่อทำคะแนน
2. Fairway : พื้นที่ระหว่างจุดเริ่มต้นและจุดจบของการแข่งขันแต่ละหลุม มักถูกสร้างให้มีการเล่นระดับ เพื่อความสวยงามและเป็นอุปสรรคเล็ก ๆ น้อย ๆ ให้แก่ผู้เล่น
3. Putting Green : หรือที่เรียกกันทั่วไปว่า Green เป็นจุดจบของกอล์ฟแต่ละหลุม เป็นที่ ๆ ให้สำหรับโปรกอล์ฟทุกคนได้แสดงฝีมือที่แท้จริงออกมา
ต่อจากนี้จะเป็นอุปสรรคที่เสริมให้เกมกอล์ฟดำเนินไปด้วยความตื่นเต้น!
4. Water Hazards : คือบ่อน้ำ / บึงน้ำที่เป็นอีกอุปสรรคที่จะช่วยสร้างความเร้าใจให้ผู้เล่น แถมยังเป็นแหล่งรับน้ำที่ระบายจากพื้นที่เล่นด้วย
5. Bunkers : หลุมทรายที่แทรกตัวอยู่ระหว่าง Fairway ซึ่งถ้า ลูกกอล์ฟไปตกอยู่ในนี้ ก็จะตียากกว่าเดิม เพราะเป็นพื้นทราย
6. Rough : พื้นที่ปลูกหญ้าที่ไม่ได้ตัดแต่ง เป็นหญ้าสูง ๆ ที่ยิ่งทำให้ผู้เล่นตีกอล์ฟได้ยากขึ้นอีกขั้น
7. Out of Bound : เขตที่อยู่นอกพื้นที่หลุม หรือออกจากสนาม
ในบรรดาทั้งหมด Green (ข้อ 3) ถือเป็นจุดทำคะแนนสุดท้ายและเปรียบเสมือน “หัวใจ” ของกอล์ฟแต่ละหลุม ดังนั้นพื้นที่นี้จะต้องราบเรียบ เพื่อลดปัจจัยเสี่ยงต่อการตีลูกกอล์ฟพลาด และที่สำคัญ น้ำต้องไม่ขัง! ระบบระบายน้ำจึงเป็นอีกส่วนสำคัญ และวิธีการที่ง่ายที่สุดคือการใช้แรงโน้มถ่วงจากความลาดเอียงที่สร้างได้ด้วยเครื่องมือสำรวจ ดังนั้น ความลาดเอียงและระดับความสูงภายในสนามจึงเป็นสิ่งที่สำคัญมาก ผู้ก่อสร้างจึงต้องก่อสร้างตามแบบอย่างเคร่งครัด เพื่อให้เหล่าโปรกอล์ฟเล่นได้อย่างราบรื่น
เส้นทางของจ้าวความเร็ว
สำหรับผู้ที่ชื่นชอบความเร็ว ต้องเคยได้ยินเรื่องการแข่งรถระดับโลกทั้งของรถยนต์และจักรยานยนต์อย่าง F1 และ MotorGP แน่นอน ในการประชันความเร็วนั้น นอกจากยานพาหนะที่แล้ว “สนามแข่งรถ (Circuit, Racing Track)” เองก็เป็นอีกส่วนสำคัญไม่แพ้กัน โดย FIA (สหพันธ์รถยนต์ระหว่างประเทศ, Fédération Internationale de l'Automobile) เป็นผู้กำหนดมาตรฐานสำหรับสนามแข่งทั่วโลก ซึ่งจะคำนึงถึงความปลอดภัยของผู้แข่งเป็นสำคัญ
สนามแข่งรถจะประกอบด้วย 2 ส่วนใหญ่ ๆ คือ
1) สนามแข่งรถ ที่มีความยาวประมาณ 1.5 - 5 กิโลเมตร
2) อาคารประกอบต่าง ๆ เช่น อัฒจันทร์ อาคารควบคุม เป็นต้น
แน่นอนว่าพระเอกของสนามแข่งรถก็คือ “สนามแข่งรถ” ที่ถูกออกแบบเพื่อรองรับรถที่ปรับโหลดให้โครงสร้างตัวรถห่างจากพื้นผิวระนาบให้น้อยที่สุด (หรือที่เรียกกันทั่วไปว่า ‘โหลดเตี้ย’) เพื่อความปลอดภัยในขณะเข้าโค้งด้วยความเร็วสูง เพราะถ้ารถมีความสูงปกติ ลองจินตนาการว่าเรากำลังอยู่บนรถทัวร์สองชั้นที่กำลังอยู่บนสะพานกลับรถรูปเกือกม้า ผู้อ่านจะรู้สึกว่ารถเอียง เนื่องจาก
สะพานกลับรถรูปเกือกม้า หรือในเกือบทุกโค้ง จะถูกออกแบบให้มีความลาดเอียง โดยยกด้านที่อยู่ด้านนอก (ไกลจุดศูนย์กลางของโค้ง) เพื่อเข้าโค้งได้ราบรื่นและปลอดภัย แน่นอนว่าผู้ขับเองก็ควรปฏิบัติตามป้ายบังคับจราจรก่อนเข้าโค้งด้วยนะ!
จากแผนภาพ จะเห็นว่าหากมีแรงหนีศูนย์กลางมากกว่าแรงสู่ศูนย์กลาง รถจะเคลื่อนที่ไปในทิศทางเดียวกับแรงหนีศูนย์กลาง และหลุดโค้งออกไป การยกโค้ง (Superelevation) จะช่วยต้านแรงหนีศูนย์กลางและช่วยให้ผู้ขับขี่สามารถสัญจรได้อย่างราบรื่นมากขึ้น
หากให้บริเวณที่ล้อสัมผัสกับพื้นถนนเป็นจุดศูนย์กลาง จากนั้นสร้างแกนตั้งฉากกับพื้นโลก (เส้นสีดำ) ขึ้นมา จะพบว่ายิ่งรถทัวร์มีความสูงมากขึ้นเท่าไหร่ เพดานรถทัวร์จะยิ่งเอียงออกจากแกนตั้งฉากมากยิ่งขึ้น (เส้นสีแดง) ทำให้คนที่นั่งอยู่ชั้น 2 ของรถรู้สึกเหมือนรถกำลังเอียงไปหาถนนข้างล่างนั่นเอง
ด้วยเหตุนี้รถแข่งจึงต้องมีความสูงน้อยที่สุดเท่าที่ทำได้ รวมทั้งลดช่องว่าง (Gap) ระหว่างโครงรถและพื้นถนนด้วย
นอกจากโค้งที่ปลอดภัยหายห่วงแล้วนั้น ความเรียบสม่ำเสมอของพื้นผิวแอสฟัลต์ของพื้นถนนสนามแข่งรถก็สำคัญเท่ากัน โดยพื้นถนนจะต้องราบเรียบ ไม่มีรอยต่อหรือความขรุขระที่อาจทำให้ล้อรถสะดุดได้ และไม่มีเศษวัสดุด้วย
โดยสรุปแล้ว เพื่อให้การก่อสร้างเป็นไปตามมาตรฐานสนามแข่งรถ ความเรียบของผิวถนนเพื่อความปลอดภัยของผู้ขับขี่ และการยกโค้งเพื่อรองรับแรงหนีศูนย์กลางของรถจึงเป็นจุดที่สำคัญมาก ๆ หากเกิดความผิดพลาดขณะก่อสร้างและทำให้การยกโค้งไม่เป็นไปตามแบบแม้แต่องศาเดียว ก็อาจจะส่งผลให้เกิดอุบัติเหตุที่ไม่อาจคาดคิดได้เป็นแน่
ซึ่งมาตรฐานต่าง ๆ ของสนามแข่งรถนั้น จะถูกประเมินและตรวจสอบโดย FIA เป็นประจำทุกปี หากจุดใดไม่เป็นไปตามข้อกำหนด อย่างร้ายแรงสุดก็อาจจะถูกถอดออกจากรายชื่อสนามที่รับรองโดย FIA แต่หากปรับแก้ให้ตรงตามมาตรฐานแล้ว ก็สามารถยื่นเรื่องให้พิจารณาและกลับเข้ามาเป็นสนามแข่งระดับโลกอีกครั้งได้
2023 : Y2K กับ สเก็ตบอร์ดครองเมือง!
ทำนองเดียวกันกับการแข่งรถ “สเก็ตบอร์ด” ก็เป็นกีฬาที่ใช้ล้อสัมผัสโดยตรงกับพื้นผิว แม้ว่าจะยังไม่ได้มีมาตรฐานบังคับสำหรับลานสเก็ต แต่ก็มีแนวทาง (Guideline) หรือข้อพิจารณาเพื่อความปลอดภัยของผู้เล่นเอาไว้ โดยลานสเก็ต (Skatepark) ที่เป็นจุดฝึกฝีมือของบรรดามนุษย์ Y2K นั้นมีหลากหลายรูปแบบ ขึ้นอยู่กับชนิดของอุปกรณ์ (อุปสรรคต่าง ๆ เช่น ราวเหล็ก เนิน หลุม เป็นต้น) แต่หลักการออกแบบจะต้องมี
- จุดส่งตัว มักจะอยู่ในที่สูง เพื่อใช้แรงโน้มถ่วงเป็นแรงเสริมส่งตัวให้ผู้เล่นเคลื่อนที่ไปข้างหน้า
- อุปกรณ์ สามารถแบ่งเป็น
2.1 โครงสร้างสำเร็จรูป คือ โครงสร้างที่ติดตั้งก็พร้อมใช้งานได้ทันที พร้อมเคลื่อนย้าย เช่น Half-pipe Ramp, Drop-in, Rail เป็นต้น
2.2 โครงสร้างคอนกรีต คือโครงสร้างที่ก่อสร้างกันในพื้นที่ลานสเก็ต ยกย้ายเคลื่อนไม่ได้แล้ว เช่น Bowl เป็นต้น
นอกเหนือจากความปลอดภัยแล้ว ผู้ออกแบบจะพิจารณาการใช้งานและความง่ายในการใช้งานของลาน รวมถึงความสามารถของผู้เล่นตั้งแต่เด็กน้อยฟันน้ำนมไปจนถึงวัยรุ่นฟันแท้ จึงมีคำแนะนำให้แบ่งโซนพื้นที่ของผู้เล่นมือใหม่และผู้มีประสบการณ์ที่แยกจากกัน
ซึ่งเครื่องเล่นแทบทุกชนิดในลานสเก็ตนั้น จะอาศัยแรงโน้มถ่วงในการเคลื่อนที่ขึ้นลงเสมอ และยังต้องใช้แรงที่มากกว่าแรงเสียดทานที่กระทำในทิศทางตรงข้ามกับการเคลื่อนที่ เพราะฉะนั้น เพื่อให้แรงจากสเก็ตบอร์ตมีกำลังมากพอที่จะผลักตัวผู้เล่นขึ้นไปตาม Ramp จะต้องทำให้พื้นสัมผัสราบเรียบลื่นไม่มีจุดให้สะดุดกึ้ก พร้อมที่จะพาผู้เล่นทะยานไปสู่ความเวิ้งว้างอันไกลโพ้น!
แม้ว่าหลาย ๆ ท่านอาจจะคิดว่าเล่นหรือฝึกฝนสเก็ตบอร์ดที่ไหนก็ได้ เช่นลานจอดรถโล่ง ๆ หรือถนนหน้าบ้านยามไร้รถสัญจร แต่ก็มีอันตรายเช่ยอุบัติเหตุจากรถยนต์ หรือเศษวัสดุบนพื้นถนน ที่อาจนำไปสู่การบาดเจ็บได้ ดังนั้น เล่นที่สนามซึ่งออกแบบได้มาตรฐานจะดีที่สุด!
หนึ่งสนาม หนึ่งมาตรฐาน
การก่อสร้างสนามกีฬาแต่ละประเภทควรเป็นไปตามมาตรฐานสนามของกีฬาชนิดนั้น ๆ โดยปัจจัยที่ถูกคำนึงถึงเป็นอันดับแรกคือความปลอดภัยเสมอ รวมทั้งการอำนวยความสะดวกสบายให้แก่ผู้เล่นด้วย ผู้เขียนจึงเห็นว่าการเล่นกีฬาหรือออกกำลังกายในพื้นที่ที่จัดเตรียมไว้โดยเฉพาะน่าจะเป็นทางเลือกที่เหมาะสมที่สุด เช่น สนามกอล์ฟเองก็ต้องอาศัยความแม่นยำในการก่อสร้างให้มีอุปสรรคพอเหมาะแต่ไม่มีน้ำขังกวนใจ หรือการยกโค้งของสนามแข่งรถที่ต้องเป๊ะเพื่อลดอุบัติเหตุ รวมทั้งความลาดเอียงและราบเรียบของลานสเก็ตด้วย ทั้งหมดนี้ ล้วนมี “งานสำรวจ” อยู่เบื้องหลังทั้งสิ้น
Summary
จะเห็นได้ว่าไม่ว่าจะเป็นการก่อสร้างสนามกีฬาชนิดใดก็ตาม อีกหนึ่งสิ่งที่ไม่อาจมองข้ามได้ คือ “งานสำรวจ” โดยเฉพาะกิจกรรมที่ต้องอาศัยความลาดชันเป็นตัวช่วยแล้วด้วย ไม่ว่าจะเป็นกอล์ฟ รถแข่ง สเก็ตบอร์ด รวมทั้งกีฬาอื่น ๆ ที่อาจจะเกิดขึ้นใหม่ในอนาคต ไม่ว่าจะมองไปทางไหนล้วนต้องอาศัยงานสำรวจที่ดีทั้งสิ้น ถ้าอยากได้พื้นที่เล่นกีฬาที่ได้มาตรฐาน ลองใช้บริการ “เลเซอร์วัดระยะ วัดระดับ” หรือจะใช้ “บริการ” ของ CST ไปดูสิ เพื่อยกระดับมาตรฐานให้งานก่อสร้างให้ดียิ่ง ๆ ขึ้น!