กำเนิดไฟสามสี

ย้อนกลับไปช่วงต้นศตวรรษที่ 20 เสาไฟจราจรถูกตั้งตระง่านขึ้นบนถนนของสหรัฐอเมริกาเพื่อเป็นตัวช่วยควบคุมการจราจรอันแสนวุ่นวาย[1] เดิมนั้นไฟจราจรถูกเดบิวต์ด้วย สีแดง-หยุด สีขาว-ไป และสีเขียว-ระวัง จนในที่สุดแล้วก็ถูกเปลี่ยนมาเป็น แดง-เหลือง-เขียว อย่างที่เห็นกันในปัจจุบัน ด้วยเหตุผลที่ว่าดวงตาของมนุษย์เราจะรับแสงสีเหลืองได้ดีที่สุด เราจะสังเกตสีเหลืองได้ก่อน (เหตุผลเดียวกับการที่รถโรงเรียนในต่างประเทศใช้สีเหลืองนั่นแหละ) ทำให้เราระมัดระวังตัวมากขึ้น ขณะขับขี่ยวดยานผ่านทางแยกที่ปรากฎไฟสีเหลือง[2] ส่วนแสงสีแดงเป็นสีที่ทำให้เรารู้สึกถึงอันตราย ความไม่ปลอดภัย ในขณะที่แสงสีเขียวทำให้เรารู้สึกตรงกันข้ามกับแสงสีแดงนั่นเอง
คิดจะติดไฟแดง คิดถึงปริมาณจราจร!
.avif)
สัญญาณไฟจราจรเป็นหนึ่งในอุปกรณ์ควบคุมการจราจรให้ดำเนินไปด้วยความสะดวก รวดเร็ว และความปลอดภัย โดยสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) เป็นหน่วยงานภายใต้กระทรวงคมนาคมที่รักยิ่งของไทย และหนึ่งในภารกิจของ สนข. คือการดูแลการจราจรภายในประเทศ จึงได้จัดทำ “คู่มือและมาตรฐานเครื่องหมายจราจร” ขึ้นมา เพื่อให้เป็นที่ปฏิบัติอย่างพร้อมเพรียงโดยทั่วกันในท้องถนนไทยเรา โดยจะมีบทที่กล่าวถึงการติดตั้งสัญญาณไฟจราจรว่าจะต้องพิจารณาในหัวข้อต่าง ๆ
เพื่อให้ง่ายต่อความเข้าใจของผู้อ่านทุกท่าน เราจะลองให้ผู้อ่านทุกท่านมาร่วมกันแก้โจทย์จราจรนี้ไปด้วยกันนะ!
โจทย์: สี่แยกแห่งหนึ่ง ทางเอกมี 6 ช่องจราจร (ไปและกลับอย่างละ 3 ช่องจราจร) ทางโทมี 4 ช่องจราจร (ไปและกลับอย่างละ 2 ช่องจราจร) ปริมาณจราจรในชั่วโมงเร่งด่วน ทางเอก ทิศเข้าเมือง 900 คัน/ชม. ทิศออกเมือง 650 คัน/ชม. ปริมาณจราจรทางโท ทิศเข้าเมือง 350 คัน/ชม. ทิศออกเมือง 250 คัน/ชม. ณ สี่แยกแห่งนั้นเคยเกิดอุบัติเหตุที่ร้ายแรงที่ทำให้มีผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตมาแล้ว 7 ครั้งในเวลา 6 เดือน มีจำนวนคนข้ามถนน 300 คน/ชม.
1. ปริมาณจราจรในชั่วโมงเร่งด่วน: พิจารณาปริมาณจราจรทางเอกและทางโท และใช้กราฟเอนกประสงค์ในการพิจารณาติดตั้งไฟสามสี
เราจะพิจารณาตารางที่ 2-1 ก่อนว่าจะใช้เส้นกราฟไหน จากโจทย์แล้วทางออกมีจำนวนช่องจราจรทั้งหมด 6 ช่อง ส่วนทางโทมี 4 ดังนั้นเราจะใช้เส้นกราฟที่ III

ต่อไปก็หาจุดตัดระหว่างแกนของปริมาณรถบนถนนทางหลักและสายรอง จากโจทย์
ปริมาณจราจรของทางเอก หรือถนนสายหลักจะได้เป็น 900 + 650 = 1,560 คัน/ชม.
ปริมาณจราจรของทางโท หรือถนนสายรองที่มากที่สุดคือ 350 คัน/ชม.

จุดตัดของเส้นทั้งสองตกอยู่บนพื้นที่สีเขียว หรือหลังเส้น III แสดงว่าสี่แยกนี่ควรติดตั้งไฟแดงไฟเขียว
2. จำนวนอุบัติเหตุ : พิจารณาจากจำนวนผู้เสียชีวิตหรือบาดเจ็บ หรือทรัพย์สินเสียหายมากกว่า 2 หมื่นบาทขึ้นไป ถ้ามากกว่า 5 ครั้ง/ปี จึงควรจะติดตั้งสัญญาณไฟจราจร โดยเราสามารถตรวจสอบจำนวนครั้งที่เกิดอุบัติเหตุได้จาก “ศูนย์ข้อมูลอุบัติเหตุ Thai RSC”
จากโจทย์ พบว่ามีอุบัติเหตุมากกว่า 5 ครั้ง/ปี จึงควรติดตั้งไฟจราจร
3. จำนวนคนข้ามถนน ซึ่งสามารถแบ่งเป็น 2 กรณี คือ
3.1 กรณีทั่วไป โดยดูได้จากตารางด้านล่าง

จากโจทย์ จะพบว่ามีคนข้ามถนนทั้งหมด 300 คน/ชม. ทั้งปริมาณจราจรก็ทะลุไปถึง 1,550 คัน/ชม. อีกด้วย สมควรติดตั้งไฟจราจรจริง ๆ
3.2 กรณีสถานศึกษา โดยพิจารณาความสัมพันธ์ระหว่างระยะเวลาที่นักเรียน นักศึกษาใช้ในการข้ามถนนต่อ 1 ครั้ง กับความถี่ของช่วงถนนที่ว่าง (ไม่มีรถขับผ่าน) และขนาดกลุ่มนักเรียน นักศึกษาที่จะข้ามถนน
ซึ่งจากโจทย์ไม่ได้ระบุว่ามีสถานศึกษาอยู่ในบริเวณนั้นหรือเปล่า แต่จากข้อ 3.1 ก็สมควรติดไฟแดงสุด ๆ
4. คิดทุกข้อ : โดยนำข้อ 1 – 3 มาพิจารณาประกอบกัน หากทุกหัวข้อมีปริมาณมากกว่า 80% ก็สมควรติดตั้งเจ้าสามสี เพื่อความปลอดภัยของผู้ข้ามถนน ผู้ขับขี่ยานยนต์ และทรัพย์สินของทุกคน
จากโจทย์ จะได้ว่า ณ สี่แยกแห่งนั้น สมควรติดตั้งสัญญาณไฟจราจรมากถึงมากที่สุด!
ไฟเขียวพริบตาเดียวก็เปลี่ยนเป็นแดง
.avif)
โดยปกติตามทางแยกที่มีปริมาณจราจรค่อนข้างสูงนั้น มักจะมีช่วงเวลาของไฟแดงนานกว่าแยกทั่วไป สาเหตุก็มาจากการที่แยกนั้น ๆ มีปริมาณยานยนต์ที่วิ่งเข้าสู่แยกนั้นเป็นจำนวนมาก ในการระบายรถ 1 เส้นออกไปนั้น จะต้องหยุดการเคลื่อนที่ของรถที่อยู่บนทางที่เหลือ เช่น สี่แยกแห่งหนึ่ง ใช้เวลาระบายรถยนต์ที่เหมาะสม 1 ทิศทางให้ออกไปโดยใช้เวลา 20 วินาที นั่นก็แปลว่าเราจะต้องหยุดรถอีกจาก 3 ทิศทางที่เหลือ เมื่อระบายรถในทิศทางแรกแล้ว ก็ต้องระบายรถที่เหลือจนกว่าจะกลับมาระบายรถจากทิศทางแรก จะได้ว่าเราจะต้องใช้ไฟแดง 20 วินาที/ทิศทาง x 3 ทิศทาง = 60 วินาที ต่อทิศทางหนึ่ง ๆ นี่จึงเป็นสาเหตุทำให้ไฟแดงมีระยะเวลานานกว่าไฟเขียวนั่นเอง
.avif)
กระซิบนิดนึงว่าผู้เขียนได้มีโอกาสไปสำรวจและเก็บปริมาณจราจรด้วยนะ วิธีการก็แสนจะง่ายดาย แต่ต้องอาศัยความอดทนมาก ๆ เลย โดยจะเป็นการเก็บปริมาณจราจรเพื่อนำไปวิเคราะห์จราจรก่อนและหลังก่อสร้างโครงการใหม่ ๆ ว่าจะมีผลกระทบด้านจราจรอย่างไรกับการจราจรท้องถิ่นบ้าง
หลังจากที่ได้รับโจทย์แล้ว ผู้เขียนก็ไปประจำอยู่ที่แยกที่อยู่ใกล้โครงการ หากเป็นแยกที่มีการจราจรไม่หนาแน่น หรือว่าเป็นแยกที่จะต้องเก็บปริมาณจราจรเพียงแค่ไม่กี่ชั่วโมง เราจะใช้การสังเกตด้วยตาเปล่าและจดบันทึกลงในตารางรูปแบบนี้ (อนึ่ง รูปแบบตารางสามารถเปลี่ยนไปได้ตามจุดประสงค์)
2.avif)
หรือหากต้องใช้เวลาทั้งวันและมีปริมาณจราจรหนาแน่นเกินกว่าความสามารถของตาเปล่า เราก็จะตั้งกล้องบันทึกวีดิโอ ก่อนจะนำมาถอดปริมาณที่สำนักงาน จากนั้นปริมาณจราจรที่ต้องการ จะถูกนำไปคำนวณต่อด้วยโปรแกรมสำเร็จรูปสุดสะดวก เช่น SIMWALK, Intersection Simulator, TSignals, หรือ Road Traffic Simulator เป็นต้น
โดยส่วนมากมักจะเก็บปริมาณจราจรในชั่วโมงเร่งด่วน แยกทิศทางที่รถไป แยกชนิดยานพาหนะ ก่อนจะนำไปคำนวณระยะเวลาที่เหมาะสมต่อไป นอกจากนี้สัญญาณไฟสีต่าง ๆ ยังสามารถปรับให้เหมาะสมกับแต่ละช่วงเวลาอีกด้วย ผู้อ่านทุกท่านลองสังเกตดูสิ ว่าในชั่วโมงเร่งด่วนกับช่วงเวลาธรรมดา ระยะเวลาของไฟแต่ละสีมันต่างกันมากน้อยแค่ไหน
นี่เป็นเพียงการระบายจราจรในทิศทางตรงทิศทางเดียวนะ หากมีการเพิ่มรถเลี้ยวขวาหรือช่องทางกลับรถไปอีกยิ่งต้องใช้ระยะเวลาในการรอไฟเขียวอีกครั้งเพิ่มขึ้นไปอีก
ถือเป็นข้อดีอีกหนึ่งข้อที่กฎหมายจราจรในประเทศไทยส่วนใหญ่จะให้ผู้ขับขี่สามารถเลี้ยวซ้ายได้เลย โดยไม่ต้องรอสัญญาณไฟจราจร (แต่ดูป้าย ณ แยกนั้น ๆ ก่อนนะ!)
Summary
แม้ว่าเจ้าตาสามสี (aka ไฟจราจร) จะน่าหงุดหงิดในบางครั้ง โดยเฉพาะเวลาที่เราต้องติดแหง็กอยู่บนรถยนต์ส่วนตัว หรือรถโดยสารต่าง ๆ แต่เจ้าสามสีนี้เองที่เป็นอีกหนึ่งผู้ช่วยสำคัญที่ช่วยให้การจราจร ณ ทางแยกนั้น ๆ เป็นไปได้ด้วยความเรียบร้อย สะดวก และปลอดภัย และผ่านการคิดมาอย่างถี่ถ้วนแล้ว ทั้งการติดตั้งสัญญาณไฟจราจรและระยะเวลาที่เหมาะสมของแต่ละสี